การเดินจงกรม
1. สติอยู่กับอาการของกายที่กำลังลุกขึ้น กำหนด ขึ้นหนอ 3 ครั้ง เมื่อกายยืนตั้งตรง มือวางบนหน้าขา แล้วกำหนดศีรษะตรวจดูคอ ไหล่ และหลัง ที่ตั้งตรงตามธรรมชาติลงไปปลายเท้า กำหนดว่า ยืนหนอ 3 ครั้ง จากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กำหนดว่า ยืนหนอ 1 ครั้ง และจากศีรษะลงไปปลายเท้า กำหนดว่า ยืนหนอ 1 ครั้ง แล้วทอดสายตาลงบนพื้น ห่างจากเท้า 2 - 3 เมตร
2.สติอยู่ที่มือซ้าย ยกขึ้นมาข้างหน้าเล็กน้อย กำหนด ยกหนอ 1 ครั้ง ย้ายมือไปข้างหลัง กำหนด ไปหนอ 1 ครั้ง วางมือลงบนสะโพกหลัง ด้านบน กำหนด ถูกหนอ 1 ครั้ง (สติอยู่ที่มือขวาแล้วทำเช่นกัน) เมื่อมือขวาวางบนมือซ้ายให้มือซ้ายจับมือขวาไว้เบาๆ หรือ สติอยู่ที่ มือซ้าย ยกขึ้นมาข้างหน้าเล็กน้อยกำหนด ยกหนอ 1 ครั้ง ย้ายมือ ไปข้างหน้า กำหนด ไปหนอ 1 ครั้ง วางมือลงบนหน้าท้อง กำหนด ถูกหนอ 1 ครั้ง (สติอยู่ที่มือขวาแล้วทำเช่นเดียวกัน) เมื่อมือขวา วางบนหลังมือซ้ายแล้วจับมือซ้ายไว้เบาๆ
3. สติอยู่ที่เท้าขวา ยกเท้าขวาเลื่อนไปแล้ววางลงอย่างต่อเนื่อง กำหนดว่า ขวาย่างหนอ 1 ครั้ง สติอยู่ที่เท้าซ้าย ทำเช่นเดียวกัน กำหนด ซ้ายย่างหนอ 1 ครั้ง เดินและกำหนดไปอย่างช้าๆ และ ต่อเนื่องสุดทางเดิน ก้าวสุดท้ายให้ชิดกัน กำหนด หยุดหนอ 3 ครั้ง
4. สติอยู่ที่กายยืนตั้งตรง กำหนด ยืนหนอ 3 ครั้ง สติอยู่ที่ส้นเท้าขวา ใช้เป็นศูนย์กลางหมุนปลายเท้าไปทางขวามือ 90 องศา กำหนด กลับหนอ 1 ครั้ง ยกเท้าซ้าย ตามไปชิด กำหนด กลับหนอ 1 ครั้ง (ทำซ้ำอีก 1 ครั้ง) แล้วมีสติที่กายตั้งตรง กำหนด ยืนหนอ 3 ครั้ง
“การปฏิบัติธรรมจะได้อานิสงส์มาก...
ก็โดยการเจริญสติ เจริญภาวนา เราจะได้บุญมาก เพราะเราเอาตัวเราเป็นเนื้อนาบุญ ของเราเอง ไม่ต้องไปรอบุญของใคร”
….
หัวใจของการปฏิบัติ
คือการอยู่กับปัจจุบันต่อเนื่องและเชื่องช้า เมื่อกราบสติปัฏฐาน เสร็จ ให้ลุกขึ้นแล้วเดินจงกรม โดยให้กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวขณะที่ ลุกขึ้นอย่างช้าๆ แล้วเดินจงกรมต่อทันที ประโยชน์ของการเดินจงกรม กล่าวไว้มีอยู่ 5 ประการ
1. อดทนต่อการเดินทางไกล
2. อดทนต่อการทำงานหนัก ๓.การย่อยอาหารเป็นไปได้ดี
4. สุขภาพดี ขับโรค ขับลม
5. สมาธิในการนั่งกรรมฐานหลังจากการเดินจงกรมจะตั้งมั่นได้นาน ดังนั้นนักปฏิบัติทั้งหลาย ขออย่าให้ละเลยการเดินจงกรมก่อนที่ จะนั่งสมาธิทุกครั้ง