ประวัติวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)
พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์วงศ์มังราย ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ ๙ จ.ศ. ๘๐๔ มีพระราชโอรสอันประสูติจากพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว คือ ท้าวศรีบุญเรือง เมื่อ ท้าวศรีบุญเรืองพระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา มีคนเพ็จทูลพระเจ้าติโลกราชว่า ท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการจะคิดกบฏ ทำให้ทรงคลางแคลงพระทัย จึงทรงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงแสนและเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านในขณะนั้น
ณ เมืองเชียงรายนี้เอง ได้เป็นที่ประสูติของพระเจ้ายอดเชียงราย และโดยเหตุที่ประสูติบนยอดเขาสูงในเชียงราย (ยอดดอกบัว ) ท้าวศรีบุญเรือง จึงประทานนามพระโอรสว่า “ยอดเชียงราย” ต่อมา พระเจ้าติโลกราชถูกเพ็ดทูลจากนางหอมุข พระสนมเอกว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการก่อกบฏอีก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย และหลังจากนั้นทรงโปรดให้พระราชนัดดา คือ พระเจ้ายอดเชียงราย ครองเมืองเชียงรายสืบต่อมา
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๓๐ พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคต ราษฎรได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระเจ้ายอดเชียงรายขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่จัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทรงดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่เป็นต้นเหตุยุแหย่ให้ท้าวศรีบุญเรือง พระราชบิดาต้องสิ้นพระชนม์ จนทำให้พระราชมารดาของพระองค์ตรอมพระทัย ถึงกับเสียพระสติ พระองค์ทรงกำหนดโทษให้ประหารชีวิตแก่ผู้ที่เป็นต้นเหตุ แต่โดยที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ภายหลังที่ได้สั่งให้สำเร็จโทษผู้กระทำผิดไปแล้ว ทรงเกรงจะเป็นเวรกรรมจึงทรงดำริที่จะหาทางผ่อนคลายมิให้เป็นบาปกรรมต่อกันสืบต่อไป
พระองค์ได้จารึกประวัติการสร้างวัดนี้ลงในศิลาจารึก ซึ่งเรียกว่า สิลาฝักขาม (ตัวหนังสือฝักขาม) ดังมีใจความว่า “สองพันสามสิบห้าปีจุลศักราชได้แปดร้อยห้าสิบสี่ตัวใน ปีเต๋าใจ๊ (เหนือ) เดือนวิสาขะไทยว่าเดือนเจ็ดออก(ขึ้น) สามค่ำวันศุกร์ไทย ได้ฤกษ์อันถ้วนสอง ได้โยคะชื่ออายูสมะ ยามกลองหงายแล้วสองลูกนาที” ซึ่งแปลเป็นภาษาปัจจุบันว่า “วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด ปีชวด พุทธศักราชสองพันสามสิบหาปี เวลา ๐๘.๒๐ น. ได้ฤกษ์ภรณี (ดาวงอนไถ) ได้โยคมหาอุจจ์” คือการก่อสร้างวัดได้ส่วนกันทั้งทางฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร โดยพระองค์ได้ทรงมีพระราชบัญชาให้พระมเหสีชื่อ พระนางอะตะปาเทวี เป็นผู้ดำเนินการสร้าง พระนางอะตะปาเทวี ได้ประชุมแต่งตั้ง กรรมการดังต่อไปนี้
ครั้งนั้นมีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาจากต่างเมือง ได้ปักกลดอยู่ที่เชิงดอยคำตำบลสุเทพ ที่ตั้งวัดร่ำเปิงเวลานี้ ได้ทูลพระเจ้ายอดเชียงรายว่า ณ ต้นมะเดื่อไม่ห่างจากที่ท่านปักกลดอยู่เท่าใดนัก ได้มีรัศมีพวยพุงขึ้นในยามราตรี สงสัยว่า จะมีพระธาตุประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง พระเจ้ายอดเชียงรายจึงทรงช้างพระที่นั่ง
อธิษฐานเสี่ยงทายว่า ถ้ามีพระบรมธาตุฝังอยู่จริง และพระองค์จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปแล้ว ก็ขอให้ช้างพระที่นั่งไปหยุด ณ ที่แห่งนั้น ทรงอธิษฐานแล้วก็ทรงช้างเสด็จไป ช้างนั้นก็ได้พาพระองค์มาหยุดอยู่ใต้ต้นมะเดื่อ พระองค์จึงให้ขุดรอบๆ ต้นมะเดื่อนั้นก็ทรงพบพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในผอบดินแบบเชียงแสน พระองค์จึงทรงทำพิธีสมโภช และอธิษฐานขอเห็นอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุนั้นจากนั้นจึงบรรจุลงในผอบทอง แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น
รายนามพระมหาเถระ
-
พระมหาสามีญาณโพธเจ้า
-
พระมหาเถระสุระสีมหาโพธิเจ้า
-
พระมหาเถระธรรมเสนาปติเจ้า
-
พระมหาเถระสัทธรรมฐิระประสาทเจ้า
-
พระมหาเถระญาณสาครอารามิตรเจ้า
(ในศิลาจารึกว่ามีประมาณ ๑๐๐ รูป แต่ปรากฏชื่อเพียง ๕ รูป)
รายพระนามและนามผู้สร้างฝ่ายอาณาจักร
-
พระนางอะตะปาเทวี ประธานกรรมการออกแบบดำเนินการสร้าง
-
เจ้าเมืองญี่ เจ้าเมืองเชียงราย ผู้เป็นพระราชปิตุลา
-
เจ้าอติวิสุทธ เจ้าหมื่นเมืองตินเชียง
-
เจ้าหมื่นคำพร้ากลาง
-
เจ้าหมื่นธรรมเสนาปติ เมืองจา
-
เจ้าหมื่นหนังสือวิมลกิรติสิงหราชมนตรี
-
เจ้าพันเชิงคดีรัตนปัญโญ
-
เจ้าหมื่นโสม ราชัณฑ์คริก
ในประวัติไม่ได้บอกชัดว่าใช้เวลาสร้างนานเท่าใด กล่าวแต่ว่าสำเร็จแล้วทุกประการ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปเป็นประธาน และพระพุทธรูปตามซุ้มที่พระธาตุเจดีย์กับได้สร้างพระไตรปิฏกและพระราชทานทรัพย์ (นา) เงิน (เบี้ย) ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า “มีราชเตทั้งหลายอันกฎหมายไว้กับอารามนี้นาสามล้านห้าหมื่นพัน ไว้กับเจดีย์สี่ด้าน สี่แสนเบี้ยไว้กับพระเจ้า (พระประธาน) ในวิหาร ห้าแสนเบี้ยไว้กับอุโบสถ สี่แสนเบี้ยไว้เป็นจังหัน (ค่าภัตตาหาร) ล้านห้าแสนห้าหมื่นพันเบี้ยไว้ให้ผู้รักษากิน สองแสนเบี้ยให้ชาวบ้านยี่สิบครัวเรือนไว้เป็นผู้ดูแลและอุปัฏฐากรักษาวัด”
สำหรับชื่อวัดร่ำเปิงนั้น ตามข้อความของอาจารย์มุกดา อัยยาเสน ที่กล่าวถึงคำปรากฏของพระเจ้ายอดเชียงราย ว่า “ ในขณะที่สร้างวัดพระองค์ทรงรำพึงถึงพระราชบิดา และพระราชมารดาอยากจะให้ทั้งสองพระองค์มีพระชนม์อยู่จะได้ร่วมทำบุญในครั้งนี้ด้วย และเพื่อให้เป็นที่บูชาคุณของทั้งสองพระองค์พระเจ้ายอดเชียงราย จึงทรงตกลงพระทัยให้ชื่อวัดที่สถาปนาขึ้นใหม่นี้ว้า “วัดร่ำเปิง” ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ และตรงกับคำว่า”รำพึง ในภาษากลางอันมีความหมายว่า “คร่ำครวญ ระลึกถึง คะนึงหา”
วัดร่ำเปิงหรือวัดตโปทาราม ได้อยู่ในสภาพวัดร้างมาหลายยุคหลายสมัย เมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง กองทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาครอบครองใช้เป็นที่ปฏิบัติการ ปรากฏว่าได้มีผู้ลักลอบขุดพระธาตุเจดีย์ได้นำเอาพระพุทธรูปและวัตถุโบราณต่าง ไป อุโบสถ และวิหารที่พระเจ้ายอดเชียงรายและพระมเหสีทรงสร้างขึ้นพร้อมกับวัด ได้ชำรุดทรุดโทรมแตกปรักหักพังจนสภาพต่าง ๆ แทบไม่หลงเหลืออยู่เลย
ส่วนวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้ประโยชน์ได้ต่อไป มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป แผ่นศิลาจารึกได้จมดินอยู่ในวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ประชุม ตกลงกันให้อัญเชิญพระประธานไปประดิษฐานไว้ ณ ด้านหลังพระวิหารวัดพระสิงห์ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และได้ร่วมกับกรรมการวัดทั้งผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ทำการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงแล้ว พวกชาวบ้านที่อพยพหลบภัยไปอยู่ที่อื่น ก็ทยอยกันกลับมา สภาพวัดก็ก็ยังขาดการบำรุงรักษาบางครั้งขาดพระจำพรรษา หรือถ้ามีก็เพียงรูปเดียว ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๔ เริ่มมีการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่แล้ว จึงได้อาราธนาพระภิกษุชาวบ้านร่ำเปิงรูปหนึ่งชื่อ หลวงปู่จันทร์สม หรือ ครูบาสม มาปกครองดูแลวัดได้ระยะหนึ่งทำให้วิหารแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ต่อมา ท่านถึงแก่มรณภาพ วัดก็ขาดพระจำพรรษาไปจนถึงปลายปี ๒๕๑๖
อุโบสถที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ โดยมีผู้มีจิตศรัทธาช่วยซ่อมให้ได้ใช้ในการปฏิบัติสังฆกรรมมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับพระพุทธรูปพระประธานนั้นเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่มีอายุประมาณ ๘๐๐ ปี เป็นศิลาขนาดหน้าตักกว้าง ๓๐นิ้ว สูง ๔๙ นิ้ว โดย จ.ส.ต ประยุทธ ไตรเพียร และคณะ ได้นำถวายไว้เป็นสมบัติของวัดร่ำเปิง เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๘ และมีชื่อว่า หลวงพ่อศรีอโยธยา
ปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๖ พระครูพิพัฒน์คณาภิบาล (ทอง สิริมงคโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองมางและเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระประจำสำนักวัดเมืองมาง ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ราชทินนามพระธรรมมังคลาจารย์(วิ) ได้ธุดงค์วัตรมาปักกลดอยู่บริเวณนี้ได้เล็งเห็นว่าสถานที่เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงได้วางโครงการที่จะขยายงานวิปัสสนากรรมฐานขึ้นอีกแห่งหนึ่งจึงได้มาจำพรรษาอยู่ทีวัดร่ำเปิง(ตโปทาราม) แห่งนี้ แล้วชักชวนชาวบ้านในท้องถิ่น ตลอดถึงผู้ใจบุญทั้งหลาย ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ฟื้นฟูขึ้น และได้เปิดป้ายสำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดร่ำเปิง เมื่อ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ และได้อัญเชิญพระประธานพระพุทธอะตะปามหามุนีปฏิมากร จากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร กลับสู่วัดร่ำเปิง เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๑๑ ค่ำ ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.๒๕๓๑ และได้พัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุ ตลอดจนซ่อมแซมบูรณะถาวรวัตถุภายในวัดให้เจริญรุ่งเรือง
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จากพระครูชั้นพิเศษเป็นพระราชาคณะที่ราชทินนาม “พระสุพรหมยานเถร” และในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ปีถัดมาท่านได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ณ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ดังนั้นท่านจึงได้แต่งตั้งให้พระสมุห์สุพันธ์ อาจิณฺณสีโล รักษาการเจ้าอาวาสดูแลสืบสานงานวิปัสสนากรรมฐานสืบต่อมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส โดยท่านเจ้าอาวาสรูปใหม่ ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระครูภาวนวิรัช ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์อดีตเจ้าอาวาสทุกประการพร้อมทั้งได้ก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ๓ ชั้น เพื่อส่งเสริมในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรมอีกทางหนึ่งด้วย และยังได้สร้าง อาคาร “๘๐ ปี พระราชพรหมาจารย์” เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๔ ชั้น เป็นที่รองรับการเข้ามาปฏิบัติธรรมเป็นหมู่คณะของ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป สร้างศาลาปฏิบัติธรรม กุฏิกรรมฐานทั้งฝ่ายพระภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา กว่า ๒๐๐ หลัง สร้างอาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรมทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผู้ที่มีกุศลศรัทธาเข้ามาปฏิบัติธรรมในสำนักแห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี