นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ยังกิญจิ สมุทยะธัมมัง สัพพัญตัง นิโรธะธัมมัญติ
ธรรมกถาในวันนี้ อาตมาจะได้แสดงพระธรรมเทศนา ปรารภถึงวันอาสาฬหบูชา ซึ่งพวกเราได้มาทำกิจในฐานะ
พุทธบริษัท พุทธบริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาจิตใจ ให้เข้า ถึงพระรัตนตรัย หรือให้เข้าใกล้พระรัตนตรัยให้มากที่สุด โดย การบำเพ็ญความดีทุกอย่าง
สมัยหนึ่งก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ได้มีมหาบุรุษท่าน หนึ่งได้หยั่งรู้ถึงธรรมที่ไม่มีใครรู้มาก่อน เมื่อพระองค์ได้หยั่งรู้ถึง
ธรรมนั้นแล้ว ก็ได้ประทับเสวยผลแห่งบุญ ที่ทำให้บรรลุธรรมนั้น เป็นเวลาถึง ๔๙ วัน หลังจากนั้นท้าวมหาพรหมก็มาอาราธนา พระองค์ให้ออกเผยแผ่ธรรม
ธรรมประการหนึ่งที่พระองค์ตรัสรู้ก็คือ อริยสัจ
หมายถึงความจริง ๔ ประการ คือ
๑.ทุกขอริยสัจ
๒.สมุทยอริยสัจ
๓.นิโรธอริยสัจ
๔.มรรคอริยสัจ
พระองค์ได้ตรัสรู้ถึงธรรมอันเป็นเหตุและผล ทุกข์ กับ นิโรธ เป็นธรรมฝ่ายผล สมุทัย กับ มรรค เป็นธรรมฝ่ายเหตุ
ก็มีเหตุผลฝ่าย ทุกข์และก็เหตุผลฝ่ายพ้นทุกข์ ทุกข์กับสมุทัยเป็นตัวสังสาระ เป็น ธรรมที่เป็นไปในโลกีย นิโรธกับมรรคเป็นโลกุตรธรรม เป็นวิวัฏฏะคือ ธรรมเครื่องออกจากสังสาระ
ที่อาตมาได้ยกบาลีว่า “ ยังกิญจิสมุทยะธัมมังสัพพัญตัง นิโรธะธัมมัญติ” หมายความว่า“ ธรรมทั้งหลายมีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา ธรรมเหล่านั้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา เหมือน ชีวิตของเรา เกิดมาแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นธรรมดา
มีความ เกิดขึ้นเป็นเบื้องแรก ผันแปรในท่ามกลางและแตกสลายในที่สุด ”
พระบาลีข้อนี้มีอยู่ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็เพราะ พระปัจจวัคคีย์ คือท่านโกญฑัญญะ ได้เห็นด้วยปัญญาของ ท่านเองว่า เมื่อทุกสิ่งมีการเกิดขึ้น ก็ต้องมีการดับไปเป็น ธรรมดา ท่านอัสสชิซึ่งเป็นพระปัจจวัคคีย์องค์สุดท้าย ก็ได้เอา ความรู้นี้ไปเผยแผ่ว่า “ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุพระตถาคต ย่อมตรัสถึงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับไปของธรรม เหล่านั้น
ดังมีพระบาลีว่า “ เย ธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต เต สัญจะโย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มหาสะมะโณ”
คำว่า “ มหาสมโณ” หมายถึงพระพุทธเจ้า คือพระมหา สมณะผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งพระองค์ทรงสอนว่า “ ธรรมทั้งหลาย เกิดแต่ เหตุ และธรรมเหล่านั้นย่อมดับไปเพราะเหตุดับ ” ธรรมทั้งหลาย หมายถึง ธรรมที่เป็นผล ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุและเมื่อเหตุดับผลก็ดับ ในอริยสัจ ธรรมที่เป็น ผลก็คือ ทุกข์กับนิโรธ ทุกข์คือขันธ์ ๕ คือ กายกับใจ นิโรธ คือ พระนิพพาน ธรรมที่ดับขันธ์ ๕ ทุกข์ เป็นธรรมฝ่ายผล ที่เป็น โลกียะ นิโรธ เป็นธรรมฝ่ายผล ที่เป็น โลกุตระ สมุทัย เป็นธรรมฝ่ายเหตุ ที่เป็น โลกียะ มรรค เป็นธรรมฝ่ายเหตุ ที่เป็น โลกุตระ
รูปนามขันธ์ ๕ ที่สมมุติว่าเป็นชีวิตของเรา เป็นธรรมฝ่ายผล ที่ เป็นโลกียะธรรม ทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ หรือชีวิตของอบายสัตว์ คือพวกเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ที่เป็นไปในสังสารนี้ เป็นธรรมฝ่ายผล ที่เป็นโลกียะสัจจะ ที่มีความเกิด และความดับเป็นธรรมดา ผลนี้เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ คือ สมุทัย
คำว่า สมุทัย แปลว่า เหตุ ซึ่งมีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีเหตุที่ สำคัญยิ่งนั้นพระพุทธเจ้าทรงยกให้แก่โลภะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตัณหา คือความอยาก ตัวตัณหาเป็นยอดแห่งเหตุ ยอดแห่งทุกข์ทั้ง มวลตัณหามีชื่อหลายอย่างเช่นโลภะราคะกามฉันทะแต่ความหมาย ก็คือ ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ความอยากมี ๒ แบบ คือ ธัมมิยะโลภะ คือความอยากที่ถูกต้องตามธรรม กับ อธรรมมิยะโลภะ ความอยากที่ไม่ถูกต้องตามธรรม ถ้าความอยากเกิดขึ้นแล้วเราทำกรรมไม่ดี ความทุกข์ก็ เกิดขึ้นและมีผลเป็นรูปนามฝ่ายบาป ก็คือ ชีวิตของพวกสัตว์ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เรียกว่า อธัมมิยะโลภะ
แต่ถ้า เกิดความอยากที่เป็น ธัมมิยะโลภะ ผลก็เป็นสุคติได้รูปนามที่เป็น มนุษย์เป็นเทวดาเป็นพรหม ตัวอย่างเช่น ฝนตกลงมาอย่างนี้ เราอยากจะได้ศาลาใหญ่เพื่อ ให้ทุกคนได้นั่งฟังธรรมในที่เดียวกัน ถ้าโยมเขาไม่มีกุศลศรัทธาสร้าง ศาลาหลังนี้ให้ ฝนตกอย่างนี้เราคงแตกฮือ ฉะนั้นการสร้างเสนาสนะ เป็นคุณอย่างนี้ ช่วยป้องกันความร้อนความหนาว ป้องกัน ลม แดด ยุง เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลาน และเป็นสถานปฏิบัติธรรมได้
เมื่อเทวดามาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ในบรรดาการให้นั้น การ ให้อะไรเรียกว่าเป็นการให้ทุกสิ่งทุกอย่าง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า การ ให้เสนาสนะเป็นการให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นเราจึงยินดีที่จะสร้างกุฏิ สร้างห้องปฏิบัติธรรม แต่ถ้าถามว่าความอยากอย่างนี้มีโทษไหม มันก็มีทั้ง คุณและโทษ คือเป็นโทษแบบโลกียะ ซึ่งเป็นฝ่ายสุคติคือบุญ กุศลอย่างนี้จะพาเราให้มาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง คือยังเป็นไปเพื่อความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความ ตาย ยังไม่พ้นจากทุกข์ แต่ก็เป็นโลกียะฝ่ายดีเมื่อมนุษย์เรา ยังมีความโลภ มีความติดสุขในทางกามอยู่ ก็ยังมีความยินดี ในบุญกุศลชนิดนี้
ฉะนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือตัวตัณหานี้ ก็อยู่ที่ว่าเราจะใช้พลังแห่ง ความอยากไปในทางใด ทางทุจริต หรือ ทางสุจริต ทางดี หรือ ทางชั่ว การที่พวกเรามาปฏิบัติธรรมกันในวันนี้ก็มาด้วยความอยาก เป็นความอยากฝ่ายดีเป็นกุศลฉันทะ บางทีก็ยังไม่รู้ว่าปฏิบัติธรรมแล้วจะดีอย่างไร ยังสงสัยอยู่ มาอยู่วัดก็ไม่สบายเหมือนอยู่ บ้าน จะกิน จะนอน ก็ลำบาก แออัดยัดเยียด ก็อาจจะสงสัยว่ามา หาทุกข์ทำไม เราไม่ได้มาหาทุกข์นะ เรามาหาทางออกจากทุกข์ คือ ทุกข์นี้เราไม่ต้องไปหา เพราะเราอยู่กับทุกข์ ทุกข์อยู่กับเรา ตัวเราเองเป็นทุกข์ เรามีความทุกข์อยู่ทุกย่างก้าว ทุกลมหายใจ เข้าออก เป็นขบวนการของทุกข์ เป็นทุกขธรรม เป็นทุกขสัจจะ เพราะทุกข์เกิดจากตัวตัณหา ความอยาก ความปรารถนา เราจึงมา หาทางออกจากตัวตัณหา คือความอยากนี่แหละ
มีครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า อาศัยตัณหาละตัณหา คือ อาศัยความอยากละความอยาก คืออยากดีเพื่อละ ชั่ว อยากเป็นคนดีละพฤติกรรมชั่วของตน ตัวชั่วนี้คือตัวอกุศล ความดีทำให้เราเป็นคนดีความดีก็คือบุญกุศล บุญกุศลนี้เป็น ปัจจัยให้เกิดความเจริญ ความสุข เราจะออกจากทุกข์ก็ต้องมา ทำความดีการทำดีเรียกว่า มรรค ถ้าปฏิบัติและทำมรรคให้ สมบูรณ์จะทำให้สิ้นทุกข์คือ นิโรธ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำบุญพอหรือยัง ถ้าเรารู้ว่ากิเลส หมดแล้ว ก็หมายความว่าบุญของเราพอแล้ว ถ้ากิเลสยังไม่หมด ก็หมายความว่าเรายังทำบุญไม่พอ เหมือนกับว่ามีกองไฟกองหนึ่ง ลุกเป็นเปลว เราก็เอาน้ำไปดับ ตราบใดที่ไฟยังลุกอยู่ก็แสดงว่าน้ำ ยังไม่พอ ถ้าเรามีน้ำมากพอ ก็สามารถดับไฟทั้งกองได้สนิท เหมือน กับการทำความดี ก็ดูว่าดับกิเลสได้หมดหรือยัง ถ้าดับกิเลสยังไม่หมด ก็แสดงว่าความดียังไม่พอ การทำความดีนี้คือ สิ่งที่เรียกว่า มรรค คือทางที่จะออกจากทุกข์ เบื้องต้นนี้เรายังไม่ต้องดับความอยาก ปล่อยให้ความอยากมันเป็นอย่างนั้น แต่เราไปสร้างเครื่องมือ สร้างเงื่อนไข เพื่อ ลดความอยาก เครื่องมือ เงื่อนไข ที่จะทำให้เราลดความอยากได้ ก็ คือ กรรมฐาน
กรรมฐานที่เราปฏิบัติ ก็คือ สติปัฏฐาน ๔
เราเริ่มกำหนดเจริญสติปัฏฐานที่กายก่อน เพราะกายนี้เป็น ที่ตั้งของความยินดีพอใจ เราติดใจความสวยงามของกาย เรียก ว่า สุภวิปลาส ถ้าเราพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่ากายเป็นอสุภะ ไม่สวยงาม เมื่อเราเจริญสติโดยอาศัยกายเป็นที่ตั้ง ก็ให้น้อมไปดู ความไม่สะอาดของกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ว่ามีความเป็นปฏิกูล โดย ประการต่าง ๆ จนสามารถถอนความยินดีพอใจในกายนี้ได้ ท่านพุทธทาสสอนให้เราตายก่อนตาย คือให้กิเลสมันตาย ไปก่อนที่เราจะตาย แล้วเราจะได้ไม่ต้องมาเกิดมาตายอีก ถ้าเรา ดับกิเลสไม่ได้ เราก็พ้นทุกข์ไม่ได้ ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าท่านจิตตะหัตถะ ก่อน ที่ท่านจะมาบวชท่านมีภรรยา แต่อยู่ด้วยกันด้วยความอดอยาก ท่านเห็นว่าเป็นพระภิกษุนี้สบาย มีพระราชามีเศรษฐีเลี้ยงดู ตัว ท่านเองทำไร่ไถนา ยังไม่มีกินเท่ากับพระเลย ท่านจึงออกบวช พออยู่เป็นพระ มีกินมีใช้ก็อ้วนพีมีกำลัง แต่เนื่องจากเป็นปุถุชนเกิด ความคิดถึงภรรยาจึงสึกออกไป อยู่ไปสักพักไม่พอกินจึงไปขอบวชอีก บวชสึก สึกบวช ถึง ๖ ครั้ง จนพระท่านรู้ เมื่อท่านมาบวชอีกพระท่านก็ถามว่า ท่านหัตถะจะสึกเมื่อไหร่ แต่พระท่านก็ไม่ว่าอะไรเรียกว่าเข้า ตามตรอกออกตามประตู พระก็เลยไม่รังเกียจ บวชก็ได้ สึกก็ได้ แต่ก่อนบวชง่ายไม่ต้องตรวจ HIV แต่สมัยนี้ต้องตรวจ HIV ก่อนถึงจะบวชได้ ก่อนที่ท่านจะบวชครั้งที่ ๗ เป็นเวลาที่ภรรยากำลังตั้งครรภ์
วันหนึ่งท่านไปไถนา ภรรยาลืมไปส่งข้าว ท่านจึง กลับบ้าน พอเปิดประตูเข้าบ้านเห็นภรรยาที่ตั้งครรภ์ได้ ๘-๙ เดือน ท้องโตนอนหลับอยู่ อากาศร้อน ภรรยาเหงื่อโทรมกาย เสื้อผ้าก็ หลุดลุ่ย ภาพที่ท่านได้เห็นเหมือนซากศพที่กำลังพองอืดได้สัก ๓ วัน ท่านมองดูแล้วก็คิดว่า “ รูปอย่างนี้หรือที่เราหลงรัก หลงชอบ ” คิดอย่างนี้แล้วท่านก็หันกลับออกจากบ้านแล้วไปที่วัดเพื่อขอบวช อีก พระท่านถามว่าบวชแล้วจะสึกอีกเมื่อไหร่ ท่านตอบว่าคราว นี้คงไม่สึกอีกแล้ว ตอนหลังเมื่อเพื่อนภิกษุถามว่าเมื่อไหร่ท่านจะ สึก ท่านตอบว่า คงไม่สึกอีกเพราะได้เห็นธรรมแล้ว ท่านบวชถึง ๗ หน แต่ในที่สุดท่านก็ได้เป็นพระอริยะ เพราะได้เห็นภาพภรรยาเป็น ธรรมะสอนใจ อย่างนี้เรียกว่าดูกายให้เห็นอสุภะ
เมื่อเราเป็นนักปฏิบัติธรรม ต้องพยายามมองกายให้เห็น เป็นอสุภะ คำว่า สุภะ แปลว่า งาม เมื่อ เติม อะ เข้าไป แปลว่าไม่ งาม อสุภะ เป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อราคะ เมื่อเห็นกายเป็นอสุภะ ความอยากความยินดีในกายก็ระงับดับไปได้
เครื่องมือที่ ๒ ให้กำหนดดูเวทนา แก้อาการติดสุข เราทุก คนอยากสุข พอมาปฏิบัติเขาให้นั่งภาวนาไม่ให้ขยับเขยื้อน เกิด เวทนา ปวดขา ก็ให้กำหนด ปวดหนอ ทุกข์หนอ เราจะเห็นทุกข์ เมื่อนั่งอยู่ในอิริยาบถเดียว ถ้าเราเปลี่ยนท่าก็ไม่เห็นทุกข์ แต่แม้ จะเปลี่ยนท่า นั่งไปอีกก็ปวดอีก ทุกข์อีก ทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นมันทุกข์ ทุกท่า นั่งพับเพียบก็ทุกข์ นั่งขัดสมาธิก็ทุกข์ นั่งภาวนาแล้วจะเห็น เวทนา เห็นเวทนาแล้วจะคลายการติดสุข
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เวทนาเป็นกรรมฐาน ไม่ได้สอนว่าเวทนาเป็นมาร ฉะนั้นเวลาปฏิบัติถ้าเกิดเวทนา ให้นึกว่า
พระกรรมฐานได้เกิดกับเราแล้ว การที่เราจะออกจากทุกข์ได้ เรา ต้องเห็นทุกข์ รู้จักทุกข์ เหมือนกับเราจะรักษาโรค ก็ต้องศึกษา สมุฏฐานของโรค ถ้าเข้าใจสมุฏฐานของโรคได้ชัดเจน ก็ให้ยาถูก ฆ่าเชื้อโรคได้ ก็สามารถดับทุกข์ได้ คือรักษาโรคให้หายได้ ทุกข์ จึงเหมือนกุญแจอีกดอกหนึ่ง ที่จะไขให้เราออกจากทุกข์ได้ โดย อาศัยทุกข์ละทุกข์ เหมือนเราจะข้ามแม่น้ำใหญ่ที่ไม่มีสะพาน เราต้องหา เรือหาแพมาใช้ เรือแพจะข้ามไปสู่ฝั่งโน้น ก็ต้องอาศัยน้ำใน แม่น้ำเป็นตัวพยุงเรือแพให้ข้ามไปได้ฉันได เราจะข้ามกอง ทุกข์ได้ก็ต้องอาศัยทุกข์นั่นแหละ จึงจะข้ามพ้นกองทุกข์ได้ฉัน นั้น ทุกข์เจ็บทุกข์ปวดยังพอทนได้ แต่ทุกข์เพราะมีโรคภัย เบียดเบียนนั้นแย่กว่า .
"เมื่อกี้มีโยคีมาลากลับบ้าน บอกว่าเพื่อน ที่เพิ่งตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง และมาปฏิบัติธรรมด้วยกัน มีความกังวลมาก เขากลัวตายและนอนไม่หลับ อย่างนี้ถือว่าเป็นทุกข์ เพราะมีอุปาทาน ว่าเราเป็นมะเร็ง ความจริงมีโยคีหลายคนบอกว่า ขอบคุณมะเร็งที่พาเขาเข้าวัด ถ้าไม่เป็นมะเร็งเขาคงไม่เข้าวัด เขา ได้เข้าถึงธรรม ได้ปฏิบัติธรรมเพราะเป็นมะเร็ง"
แต่การมาปฏิบัติธรรมไม่ใช่มะเร็งจะหายทุกราย แต่แม้จะ ไม่หายเราก็มาเตรียมตัวตาย เมื่อจะตายขอให้ตายอย่างมีที่พึ่ง ตาย อย่างมีสติ การปฏิบัติธรรมทำให้จิตใจเราเข้มแข็ง เจ็บปวดอย่างไร ก็อดทน เอาเวทนาที่เกิดจากการเป็นมะเร็ง เป็นอารมณ์กรรมฐาน กำหนด เจ็บหนอ ปวดหนอ จิตใจนิ่งสงบได้เพราะมีสติ เอาสติที่ฝึก แล้วต่อสู้กับเวทนา วิธีนี้เรียกว่า
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เครื่องมือที่ ๓ คือกำหนดดูจิต เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติ ปัฏฐาน มีโยคีมาปฏิบัติธรรมบอกว่าจิตไม่สงบเลย ฟุ้งซ่าน นึกคิด ตลอดเวลา เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องกำหนด คิดหนอ คิดหนอ มันจะ คิดทั้งชั่วโมงก็ไม่เป็นไร ขอให้มีสติรู้ว่ากำลังคิด สติที่ได้จากการกำหนดกาย กำหนดเวทนา กำหนดจิต มี ค่าเท่ากัน แต่เราไม่ชอบ เราไม่อยากได้สติจากการดูกายที่เป็น ปฏิกูล ไม่อยากได้สติที่เกิดจากทุกขเวทนา ไม่อยากได้สติจากการ รู้ความคิด แต่เราอยากได้สติที่เกิดจากจิตที่มีสมาธิ มีความสงบ สุข ความจริงแล้วสติเป็นคุณธรรมที่มีอารมณ์หลากหลาย ไม่ใช่ อารมณ์ดีอย่างเดียว อารมณ์ไม่ดีก็ได้ เหมือนกับเราหาทรัพย์ได้จากการขายของเก่า เช่นเราเก็บ ขยะรีไซเคิล พวกขวด พลาสติก ขวดแก้วที่ใช้แล้ว หรือเก็บเศษหิน เศษเหล็กขาย หรืออาจจะขายเพชรพลอยก็ตาม เงินที่ได้จากการ ขายขยะหรือเพชรพลอยก็มีค่าเท่ากัน แต่เงินนั้นก็ได้มาจากปัจจัย ต่างกัน บางคนขายขยะก็เป็นเศรษฐีได้ บางคนขายเพชรขายพลอยก็เป็นเศรษฐีได้
เงื่อนไขไม่ได้อยู่ที่อาชีพ แต่อยู่ที่ทรัพย์ที่เกิด จากอาชีพนั้นเป็นสำคัญ เหมือนการปฏิบัติธรรม ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ความสุข หรือความทุกข์ แต่อยู่ที่มีสติ หรือขาดสติ สงบหรือฟุ้งซ่าน ยิ่งคนมา ปฏิบัติครั้งแรกจะไม่มีความสงบ มีแต่ความคิดหลายอย่างเกิดขึ้น ในใจ เราจะตั้งสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบลงไปในความคิดนั้น ได้อย่างไร ถ้าเรามีความคิดชอบ เห็นชอบแล้ว เราจะรู้ว่ามันเป็น แค่ธรรมชาติของจิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติคิด แต่เราจะฝึกคิด อย่างมีสติ คิดอยู่กับธรรมะฝ่ายดี ถ้าสงบได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็กำหนด ไปเรื่อยๆก่อน คิดหนอ ฟุ้งหนอ และสังเกตดูว่า จิตมีความโลภ โกรธ หลง มีสติ มีสมาธิ หรือเป็นอย่างอื่น ก็สังเกตดูอาการของจิต นั้นไปเรื่อยๆ คืออาศัยจิตคิดนั่นเองเป็นที่ตั้งของกรรมฐาน
ฉะนั้น ความคิด ความฟุ้งไม่ใช่เรื่องเลวร้าย สำหรับการปฏิบัติธรรม เรา สามารถเอาความคิดนั้นมาเป็นฐานของการปฏิบัติธรรมได้ จิตเป็นธรรมชาติคิด ให้เรามีสติรู้ว่าจิตกำลังคิด แต่ โยคีทั่วไปไม่อยากให้มีความคิด แต่ความคิดก็มีอยู่ ให้เรา ตั้งใจกำหนดภาวนาไปเรื่อยๆ เมื่อสติสมาธิดีขึ้น ความคิด จะเบาบางลงไปเอง ถ้าสติสมาธิยังไม่แข็งแกร่งพอ ความคิดก็ มีกำลัง เราไม่ต้องกังวล เหมือนกับแม่น้ำใหญ่ไหลทั้งปีทั้งชาติ เราไม่ต้องเสียดายน้ำที่ไหลไปแล้ว ไม่ต้องกังวลกับน้ำที่ยังไหล มาไม่ถึง เรามีหน้าที่เพียงถ้าต้องการใช้น้ำ ก็ตักน้ำไปใช้ ชีวิตของเราตั้งแต่เกิดมาจนวันตาย จิตจะคิดรู้อารมณ์ ตลอดเวลา แต่เมื่อเรามาเจริญกรรมฐาน เราก็เอาความคิดมาใช้ประโยชน์ โดยเอามาเป็นที่ตั้งของสติ จะคิดไปกี่เรื่องไม่ต้องสนใจ ให้รู้ว่าจิตคิดดีอย่างนี้ คิดไม่ดีอย่างนี้
ตามความเป็นจริง ถ้าเรา รู้เท่าทันความคิดบ่อยๆ สติไวขึ้น ความคิดก็เบาลงไปเอง แต่จิต มีหน้าที่คิดอยู่อย่างนั้น แต่ว่าคิดอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดเรื่องอนาคต หรือเรื่องอดีตให้เราปวดหัว เหมือนกับธรรมชาติของน้ำ ธรรมชาติ ของน้ำคือธรรมชาติไหล ถ้าเรากั้นไว้มันก็ซึม ถ้าเราเอาพลาสติก มารองก้นไว้ก็ระเหย มันเป็นธรรมชาติของน้ำ ที่จะมีการเคลื่อนไหว ในตัวของมันเอง จิตก็เป็นธรรมชาติที่มีการเคลื่อนไหว มีการรับ รู้อารมณ์ แต่เราจะรับรู้อารมณ์อย่างไหน จึงจะเป็นประโยชน์ เราก็ฝึกรับรู้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน ฝึกให้จิตอยู่กับปัจจุบัน
เครื่องมือที่ ๔ คือ ธรรมานุปัสสนาติปัฏฐาน คำว่า ธรรมา ตัวนี้คือ ธรรมะ คือ ธรรมชาติที่มีอยู่จริง มีอยู่หลายบท หลายหัวข้อธรรม แต่หัวข้อธรรมที่เราจะนำมาใช้ในการภาวนา ก็คือหัวข้อธรรมเกี่ยวกับเรื่องของขันธ์เรื่องของอายตนะ เมื่ออายตนะสัมผัสกับอารมณ์ภายนอก ก็ให้มีสติ อย่าง เช่น ตาเห็น หูได้ยิน ก็ให้กำหนด เห็นหนอ ได้ยินหนอ หรือกำหนด กลิ่นหนอ รสหนอ สัมผัสหนอ เมื่อเรากำหนดได้ ก็ถือว่าเราได้เจริญ มรรค เจริญสัจธรรมในขณะนั้น อย่างเวลาที่เรากำลังฟังธรรมอยู่นี้ เสียงกระทบหู เกิดการ ได้ยิน เป็นทุกขธรรม เป็นทุกขสัจ ถ้าเรามีความยินดีพอใจในเสียง ที่ได้ยิน เป็นสมุทยสัจ แต่ถ้าได้ยินเสียงแล้วเรามีสติกำหนด ฟัง หนอ ได้ยินหนอ เป็น มรรคสัจ ขณะที่เรากำหนดลงไปนั้นเรียกว่า.
เรากำหนดอายตนะสัมผัส เสียงกับหูเป็นรูปธรรม จิตที่ได้ยินเป็น นามธรรม ความโลภความชอบที่เกิดจากการได้ยิน เป็นนามธรรม ฝ่ายบาป แต่สติที่กำหนด ได้ยินหนอ เป็นนามธรรมฝ่ายบุญ นี่คือตัวธรรมที่กำลังเคลื่อนไหวไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อ สีกระทบตาเกิดการเห็น เป็นทุกขธรรม เห็นแล้วเกิดความชอบ ความพอใจในสิ่งที่ได้เห็นเป็น สมุทัย แต่ถ้าเห็นแล้วกำหนดการ เห็น เห็นหนอ เห็นหนอ เป็นมรรค เมื่อกำหนด เห็นหนอ กิเลสจะไม่ เกิดเพราะการเห็นนั้น จึงเป็นนิโรธ ดับตัณหา ดับความอยาก ดับ ความพอใจในสีนั้น มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ กลิ่นกระทบจมูกเกิดการรู้กลิ่น เป็นทุกขธรรม กลิ่นเป็นรูป ขันธ์ ตัวรู้กลิ่นเป็นนามธรรม เป็นวิญญาณขันธ์ ตัวสติที่กำหนด กลิ่นหนอ เป็นสังขารขันธ์ ถ้ารู้สึกชอบในกลิ่น ตัวชอบเป็นสมุทัย แต่ถ้ามีสติกำหนดว่า ชอบใจหนอ เป็นมรรค ความชอบใจดับลง เป็นนิโรธ คือดับตัณหา ตัวมรรคนี้เป็นสังขารธรรม สมุทัยก็เป็น สังขารธรรม ถ้ามีสติก็เป็นสังขารธรรมฝ่ายดี ถ้าขาดสติก็เป็น สังขารธรรมฝ่ายชั่ว ฉะนั้นถ้าเรากำหนดลงไปที่ ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ มีอารมณ์มากระทบสัมผัส เรียกว่าเป็นมรรค การกำหนดดูจิต จะเห็นอนิจจังของจิต จะละความ รู้สึกว่าจิตนี้เป็นของเที่ยง กำหนดดูธรรม จะเห็นอนัตตาของ ธรรม จะเห็นว่าธรรมนี้ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับไม่ได้ แต่ฝึก ได้ถ้าฝึกมันก็ดีได้ถ้าไม่ฝึกมันก็ไม่ดีมันอยู่ที่การฝึก แต่ว่า เราบังคับให้เป็นดั่งใจไม่ได้นี่คือธรรมชาติของชีวิต
ชีวิตจะมีสุข มีทุกข์ก็เพราะการได้เห็น ได้ยินนี่แหละ อยู่ที่ว่า เราจะบริหารอย่างไร ถ้าเราบริหารถูก มันก็เป็นมรรค ถ้าเรา บริหารผิด มันก็เป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมะจึงเป็นธรรมชาติเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจ มันจะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อใดเรามีความรู้สึก ว่า ฉันอยากจะเป็นอย่างนั้น ฉันไม่อยากเป็นอย่างนี้ความรู้สึก อย่างนั้นเป็นอัตตา แต่พอไม่เป็นดั่งใจทุกข์จึงเกิดขึ้น ดังนั้นตัวอริยะสัจนี้จึงมีในทุกขณะที่เราย่างก้าว ขณะที่เรา นั่งภาวนา ขณะที่เรานั่งฟังนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นตัวไหนใน ๔ ตัวนี้ เช่นขณะที่เราย่างก้าว ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เท้าที่ก้าวย่าง ไป เป็นทุกขธรรม สติที่กำหนดการก้าวย่าง เป็นมรรค หรือขณะที่ ท้องพอง ท้องยุบ อาการพองยุบเป็นทุกขธรรม สติที่กำหนด พอง หนอ ยุบหนอ เป็นมรรค เพราะขณะที่เรากำหนดอยู่ กิเลสไม่เกิด จึงเป็นนิโรธ ดับตัณหา ดับกิเลสในขณะนั้นได้ แต่ถ้าเผลอเดินไป ลืมกำหนด หรือกำหนดซ้ายแต่เดินเป็นขวา กำหนดขวาแต่เดินเป็น ซ้าย มรรคก็ไม่เกิด นิโรธก็ไม่แจ้ง ดังนั้นเราจึงต้องพยายามฝึก เดิน นับเท้า นั่งนับท้อง โยคีบางคนกำหนด พองหนอ ยุบหนอ แต่พอถามว่า ยุบหายใจเข้าหรือหายใจออก ก็ตอบว่าหายใจเข้ายุบ หายใจ ออกพอง พอถามอีกทีว่าถ้าเราเป่าลมเข้าลูกโป่ง ลูกโป่งจะยุบ หรือจะพอง ก็ตอบว่าพอง แต่หายใจเข้าทำไมท้องยุบ แสดงว่า ไม่ได้กำหนดอยู่ที่ท้องจริงๆ ดังนั้นเราต้องน้อมจิตไปที่ท้อง ถ้าไม่รู้สึกจริงๆ ให้เอามือกุมหน้าท้อง จะรู้ว่าหายใจเข้า ท้องพอง หายใจออก ท้องยุบ บางคนก็คิดเอาแล้วบริกรรมว่า พองหนอ ยุบหนอ แต่ไม่รู้ว่าพอง ยุบ อยู่ที่ไหน อย่างนี้เป็นการบริกรรม เฉยๆ ไม่รู้ว่าอะไรพอง อะไรยุบ ที่ถูกต้อง เมื่อกำหนดพอง หนอ ท้องต้องพองจริงๆ ยุบหนอ ท้องต้องยุบจริงๆ อย่างนี้ หมายความว่า อยู่กับปัจจุบันแท้ไม่ได้คิดเอาเฉยๆ
ฉะนั้น ถ้าเรากำหนดอาการพอง ยุบ พอง ยุบ เป็นทุกข อริยสัจ เหตุให้เกิดอาการพอง ยุบ เป็นสมุทัย ก็คือ ลมหายใจเข้า ออก สติที่กำหนด พอง ยุบ เป็นมรรค กิเลสไม่เกิดในขณะที่กำหนด พอง ยุบ เป็นนิโรธ นี่คือเป็นอริยสัจ ๔ ในพอง ยุบ นี่เอง อริยสัจ มีอยู่ในตัวทุกคนเพียงแต่เราไม่พบ เพราะเราขาด ปัญญา เปรียบเทียบเหมือนกับว่า แร่ธาตุทุกอย่างที่มนุษย์นำมา ใช้นั้น มีอยู่แล้วในโลกนี้ อยู่บนดินบ้าง อยู่ในดินบ้าง อยู่ในอากาศ บ้าง คนในยุค ๑๐๐๐ ปีก่อน เขาไม่รู้จัก แต่คนในยุคปัจจุบัน สามารถนำเอาทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ได้ ยังมีทรัพยากรอีกหลาย ชนิด ที่มนุษย์ยังนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะขาดความรู้ขาด ปัญญา แต่ถ้ามนุษย์สามารถพัฒนาปัญญาให้ถึงที่สุด ก็จะได้ ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นอีกมากมาย ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปัญญา แต่ปัญญา ของเราไม่เท่ากัน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีช้างตัวหนึ่ง โคตัวหนึ่ง กระต่ายตัวหนึ่ง ต้องการข้ามแม่น้ำ กระต่ายลงไปที่ฝั่งแม่น้ำ เท้า ของกระต่ายหยั่งลงถึงพื้นน้ำ ได้เพียงก้าวสองก้าวเท่านั้น จากนั้น กระต่ายต้องอาศัยความเพียร เอาเท้าพุ้ยน้ำไป โดยเท้าไม่สามารถหยั่งลงสู่พื้นน้ำได้ แต่ในที่สุดกระต่ายก็สามารถข้ามไปสู่ฝั่งโน้นได้ ทั้งที่เท้ากระต่ายเหยียบพื้นใกล้ฝั่งน้ำได้เพียงแค่คืบแค่ศอก จาก นั้นก็ไม่สามารถหยั่งถึงพื้นได้ เพราะขากระต่ายสั้น ต่อมาโคก็ลงไปที่แม่น้ำ เพื่อข้ามไปสู่ฝั่งโน้น ขาของโค สัมผัสพื้นได้เพียงสามวาห้าวาก็เจอน้ำลึก ไม่สามารถหยั่งถึงพื้นได้ จึงใช้เท้าพุ้ยน้ำไป จนข้ามไปถึงฝั่งโน้นได้ ช้างก็ข้ามแม่น้ำเหมือนกัน แต่เนื่องจากช้างตัวใหญ่ มันจึง สามารถใช้เท้าสัมผัสพื้นใต้น้ำได้ตลอด จนข้ามถึงฝั่งโน้นได้โดยง่าย
อันนี้เปรียบเทียบว่าปัญญาของพระสาวก และปัญญาของ พุทธศาสนิกชนทั่วไป ว่ามีปัญญาน้อยขนาดขากระต่าย หยั่งลงสู่ อริยสัจได้แค่พื้นๆ ปัญญาของพระปัจเจกพุทธเจ้า เปรียบเหมือนขา โค ที่ข้ามแม่น้ำโดยขาสัมผัสพื้นใต้น้ำเพียงส่วนหนึ่ง ส่วนปัญญาของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นแจ้งในอริยสัจ เหมือนช้างที่สามารถใช้เท้า หยั่งลงสู่พื้นใต้น้ำได้ตลอด ตั้งแต่ฝั่งนี้ถึงฝั่งโน้น สัตว์ทั้ง ๓ ชนิดต่างก็ข้ามแม่น้ำได้สำเร็จเหมือนกัน แต่ มีความลึกซึ้งต่างกัน ปัญญาของพระสาวกและพุทธศาสนิกชน ทั่วไป แม้จะรู้น้อยแต่ก็สามารถข้ามฝั่งได้ หมายถึงเห็นแจ้งใน อริยสัจได้พอสมควร แต่ไม่ลึกซึ้งเท่ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าและ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราอยากรู้อย่างพระพุทธเจ้าก็ต้อง สร้างพระบารมี ๓๐ ทัศ ให้เต็มบริบูรณ์ถ้าอยากรู้อย่างพระปัจเจก พุทธเจ้าก็สร้างบารมีให้ได้ครึ่งหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็จะเหมือน โคข้ามแม่น้ำ ถ้าเราเพียงแต่ขอให้ข้ามฝั่งให้พ้น ก็สร้างบารมีให้เหมือนสาวกพระพุทธเจ้าก็จะรู้อริยสัจเหมือนขากระต่าย ฉะนั้นขอให้เราเป็นกระต่ายก็แล้วกัน จะได้ข้ามได้ไวหน่อย ไม่ต้องสร้างบารมียาวนาน อริยสัจมีความละเอียดลึกซึ้งมาก เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า พาพระภิกษุสงฆ์ไปอยู่ที่ป่าไม้ประดู่ลาย พระองค์ทรงใช้พระหัตถ์ กำใบประดู่ลายมาส่วนหนึ่ง แล้วตรัสถามพระภิกษุว่า ใบ ประดู่ลายในพระหัตถ์ของพระองค์กับใบประดู่ลายในป่า อย่าง ไหนจะมากกว่ากัน พระภิกษุตอบว่า ใบประดู่ลายในป่ามีมากกว่า
พระองค์จึงตรัสว่า ความรู้ที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้น เปรียบได้กับใบประดู่ลายในป่า แต่ความรู้ที่เป็นไปเพื่อการ ดับทุกข์นั้น เปรียบเหมือนกับใบประดู่ลายในพระหัตถ์ของ พระองค์ คือความรู้ที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์นั้นมีไม่มาก ไม่ ต้องศึกษาเล่าเรียนให้มาก เอาเพียงศาสตร์เดียวที่ทำให้พ้น ทุกข์ได้คือพุทธศาสตร์นอกนั้นเป็นศาสตร์เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงชีวิต เราทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมก็คือเรามาศึกษาพุทธศาสตร์ ศาสตร์ที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เมื่อเรียนรู้แล้วก็ลงมือปฏิบัติตาม ที่ได้เรียนรู้นั้น จึงจะมีโอกาสได้สัมผัสธรรมและโลกุตระธรรมต่อไป พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจ ๔ และธัมมจักกัปปวัตตน สูตร อันเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เมื่อพระองค์ทรงแสดง ธรรมจบ ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรม อย่างที่อาตมายกธรรมะขึ้น ต้นในตอนแรกว่า “ ยังกิญจิ สมุทยะธัมมังสัพพัญตัง นิโรธะธัมมัญติ ”
ท่านโกณฑัญญะมีปัญญาเห็นว่า “ ธรรมทั้งหลายมีความ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา และมีความดับไปเป็นธรรมดา ”
นี่คือคุณธรรม ของความเป็นพระโสดาบัน พระอริยสงฆ์จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกใน โลกในวันนั้น และพระรัตนตรัยจึงครบองค์ ๓ ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงเกิดพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ตอนหลังจึงมี พระภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท อุบาสิกาบริษัท เกิดขึ้น พระธรรมวินัยมาถึงพวกเราในยุคนี้ก็เพราะบรรพบุรุษ ได้ช่วยกันป้องกันรักษาสัจธรรมต่อมา เรียกว่าหมุนกงล้อ ธรรมจักร คือหมุนมรรคนั้นเอง เมื่อเราปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ อยู่ตราบใด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ วันนี้เป็นวันที่พระองค์ทรงแสดงธรรมจักร ทำให้พระอริย สงฆ์เกิดขึ้น ทำให้พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้น จึงเป็นการระลึกชอบ ที่ เรามาทำพิธีกรรมแสดงความเคารพ นอบน้อมต่อพระธรรมวินัยนี้ เรามาเวียนเทียนกันในวันนี้ ก็เพราะระลึกถึงพระคุณ ของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์เป็นผู้รักษาความดีเหล่านี้ไว้ พวก เราจึงได้ศึกษาปฏิบัติกันจนถึงวันนี้ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเรา ทุกรูปทุกคน ที่จะต้องใส่ใจในการรักษาพระศาสนา คือ รักษา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการนำมาประพฤติปฏิบัติ
ก็ขออำนวยพรให้พระสงฆ์ องค์เณรทุกรูป ตลอด จนถึงภิกษุณี แม่ชี โยคี ญาติโยม อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ที่ได้ มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ได้แสดงออกถึงความเป็นพุทธศาสนิกชน ที่สมบูรณ์ จงเป็นผู้มีกำลังบุญ กำลังสติปัญญา ที่จะเคลื่อนพระ ธรรมจักรให้เจริญรุ่งเรืองในขันธสันดานของเรา และเป็นอานิสงส์ ปัจจัยให้ถึงพระนิพพานเป็นที่สุด อาตมภาพแสดงพระธรรมเทศนามาก็เห็นสมควรแก่เวลา จึงขอสมมุติยุติเพียงแค่นี้ก่อน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
พระภาวนาธรรมาภิรัช วิ.
สรรพธรรม ๔
Comentários