นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง
"เราเป็นนักบวช เป็นภิกษุ ภิกษุณี สามเณร แม่ชี โยคีนั้น เราอยู่ในภาวะที่ถือพรหมจรรย์คือการออกจากกาม อย่างน้อยที่สุด ก็ออกจากกามด้วยกาย แม้ว่าจิตยังมีกระแสกามอยู่ แต่จิตก็น้อมออกจากกาม เห็นโทษของตัณหาราคะ"
ธรรมกถา ในโอกาสบัดนี้ จะได้แสดงพระธรรมเทศนา
ปรารภถึงวันนี้ เป็นวันธรรมสวนะ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 1 เป็นโอกาสที่เราจะได้มาทำกิจ เช่น เวียนเทียน ฟังธรรม และฟังบรรยายธรรม คืนนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนา ปรารภถึงข้อปฏิบัติที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แสดงไว้ใน มัชฌิมนิกาย
ว่าด้วยเรื่องอปัณณะกะปฏิปทา ซึ่งเป็นธรรมที่องค์พระศาสดา ได้ตรัสไว้ว่า ใครได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ผิด เป็นทางที่ถูกต้องโดยส่วนเดียว
ในสมัยหนึ่ง องค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จไปยังหมู่บ้านหนึ่งของแคว้นโกศล ชื่อว่า บ้านศาลา พวกพราหมณ์และ คฤหบดีชาวบ้านศาลา ได้ข่าวว่า องค์พระศาสดาได้เสด็จมาและ พวกเขาได้ทราบว่า องค์พระศาสดา ได้เสด็จออกบวชจากศากยะราชตระกูล และ ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นพระอรหันต์ผู้พร้อมด้วยความรู้ เป็นผู้ประพฤติดี เป็นผู้รู้ ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความกรุณา จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ได้พวกเขาคิดว่า การจะได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้มีคุณถึงปานนี้เป็นการดี จึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า องค์พระศาสดาได้ตรัสถามว่า...
พวกเขามีศาสดาที่จะประพฤติปฏิบัติตามหรือยัง พราหมณ์ และคฤหบดีเหล่านั้นก็ทูลว่า ยังไม่มี พวกเขาจึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่มีศาสดาที่ท่านนับถือ เราจะให้ธรรมเป็นเครื่องดำเนินชีวิต ชีวิตของท่านทั้งหลายก็จะเป็นไปเพื่อความสุขและความเจริญ
องค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถามพวกเขาต่อไปว่า...
เคยมีศาสดาองค์อื่นที่มาที่นี่แล้ว แสดงทิฐิความเห็นว่า การให้ทานไม่มีผล การปฏิสันถารต้อนรับไม่มีผล การบูชาสิ่งที่ควรบูชาไม่มีผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี คุณของบิดามารดาไม่มี สัตว์ที่เกิดแล้วโตทันที คือพวกเทพเทวา และสัตว์นรกไม่มี สมณะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นวิญญูชน รู้แจ้งด้วยตนเอง และสามารถชี้แจงให้ผู้อื่นได้รู้แจ้งตามไม่มี อย่างนี้มีบ้างไหม ?
ชาวบ้านศาลาตอบไปว่า มี
พระองค์จึงตรัสถามต่อว่า แล้วเคยมีศาสดาบางองค์มาที่นี่ แล้วแสดงทิฐิความเห็นว่า การให้ทานมีผล การปฏิสันถาร
ต้อนรับมีผล การบูชาสิ่งที่ควรบูชามีผล โลกนี้มี โลกหน้ามี คุณของบิดามารดามี สัตว์ที่เกิดแล้วโตทันที เช่น พวกเทพเทวา และสัตว์นรกทั้งหลายมี สมณะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งด้วยตนเอง และสามารถชี้แจงให้ผู้อื่นได้รู้แจ้งตามมี อย่างนี้มีบ้างไหม ?
ชาวบ้านศาลาตอบว่า มี
องค์พระศาสดาจึงตรัสต่อไปว่า ศาสดาทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะทะเลาะกันขัดแย้งกัน เพราะคำสอนต่างกัน พระองค์ตรัสต่อไปว่า
พวกที่สอนว่า การให้ทานไม่มีผล เป็นต้นนั้น เรียกว่าพวก นัตถิกะทิฐิ คือกลุ่มที่เห็นผิดว่า ไม่มีผล คนเหล่านี้จะไม่มีจิตน้อมไปในการทำกุศล มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แต่เขาจะมีจิตน้อมไปในการทำอกุศลมีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เพราะเขาไม่เชื่อเรื่องโลกนี้และโลกหน้าเป็นต้น
เมื่อคิดว่า ทานไม่มีผล จิตก็จะไม่น้อมไปในการทำความดีทั้งหลาย เขาจะดูหมิ่นเหยียดหยามคนทำดีคนทำบุญ ทำกุศล เขาจะเกิดมานะทิฐิ ยกตนข่มท่าน ตามอำนาจมิจฉาทิฐิของตนแต่ถ้าบุคคลใดเชื่อว่าการให้ทานมีผลเป็นต้น จิตเขาจะ
น้อมไปเพื่อทำกุศล คือประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เว้นจากความชั่วทางกาย วาจา ใจ เพราะเขามีทัศนะว่า ความดีมีจริงโลกนี้ โลกหน้ามีจริง จิตจะน้อมไปในการทำความดี เพื่อความหลุดพ้น เพื่อความเจริญ
องค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า บุคคลใดเชื่อว่าโลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี เป็นต้น เมื่อเขามีชีวิตอยู่ เขาจะ
ทำชั่วทางกาย วาจา ใจ เขาจะถูกวิญญูชนคนมีปัญญาทั้งหลายตำหนิ และ เมื่อโลกหน้ามีจริง เขาจะตกไปสู่ทุคติอบายภูมิ ได้ชื่อว่าเป็นผู้แพ้ คือปัจจุบันก็ถูกตำหนิ และเมื่อโลกหน้ามีจริง เขาก็ไปสู่อบายภูมิ คือพวกสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน เรียกว่าเสียทั้งสองคือปัจจุบันและอนาคตแต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาเชื่อว่าบุญบาปมีจริง นรกสวรรค์มีจริง
จิตเขาจะน้อมไปในทางดี ทำความดีทั้งกาย วาจาใจ บัณฑิตก็สรรเสริญในปัจจุบัน เมื่อตายไป โลกหน้ามีจริง เขาก็ได้สุคติโลกสวรรค์ในเบื้องหน้า เรียกว่าได้ประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์ทั้งโลกปัจจุบันและอนาคตการที่เราเชื่อว่าบุญบาปมีจริง นรกสวรรค์มีจริง ก็ได้ชื่อว่า เราไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระอริยะ ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ ที่มีอภิญญาจิตรู้โลกนี้โลกหน้า แต่ถ้าเรามีความคิดตรงกันข้าม เราก็ได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอริยะ เป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ผู้รู้โลกนี้โลกหน้า
แม้แต่กลุ่มบุคคลที่เป็น อเหตุกทิฐิ คือมีความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเอง ดีก็ดีเอง ชั่วก็ชั่วเอง ไม่มีสิ่งอื่นบันดาล
และพวกที่มีความเห็นเป็นอกิริยทิฐิ คือเห็นว่าการทำผิดศีลทั้ง 5 ข้อนั้น ไม่ว่าจะทำผิดด้วยตนเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำ เช่นการฆ่าผู้อื่นด้วยตนเอง หรือจ้างวานให้ผู้อื่นฆ่า หรือลักทรัพย์ด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นลัก คนกลุ่มนี้ถือว่าไม่เป็นบาป เป็นสักแต่ว่ากิริยา เห็นผู้อื่นทำทานรักษาศีล ก็ไม่ถือว่าเป็นบุญ ถือว่าเป็นสักแต่ว่า กิริยาบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ควรถูกตำหนิ เพราะเขาจะมีจิตน้อมไปในการทำทุจริต ทั้งกาย วาจา ใจ สร้างทุกข์ให้แก่ผู้อื่น
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสให้พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาฟังต่อไปอีกว่า มนุษย์ในโลกนี้บางคนทำตัวเองให้
เดือดร้อน และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย แต่บุคคลบางคนก็ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างสันติสุข
พระองค์ทรงยกตัวอย่างบุคคลที่ทำตัวเองให้เดือดร้อนเปรียบกับผู้ประพฤติตนให้ลำบาก ทรมานตน ที่ภาษาพระเรียกว่า
อัตตะกิละมะถานุโยค ดุจดั่งลัทธินิครนถ์ทั้งหลาย ส่วนบุคคลที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนก็คือ คนที่มีอาชีพในการฆ่าสัตว์ ฆ่าเป็ด ไก่ แพะ แกะ เป็นต้น หรืออาชีพทำประมงพวกนี้ ดำเนินชีวิตที่ทำให้สัตว์อื่นเดือดร้อน
บางคนไม่ทำให้ตนเดือดร้อนและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็ได้แก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ที่ท่านได้ดับกิเลสอาสวะได้หมดสิ้นแล้ว
องค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอีกว่า บางคนเชื่อว่านิพพานมีจริง บางคนไม่เชื่อเรื่องนิพพาน ไม่ว่าเขาจะเชื่อหรือ
ไม่เชื่อ เราก็ไปบังคับเขาไม่ได้ ถ้าเราเชื่อว่านิพพานมีจริง แต่เรายังปฏิบัติไม่ถึง เราก็ยังไม่พบพระนิพพาน การจะเข้าถึงพระนิพพานต้องดับกิเลสให้หมด และต้องบำเพ็ญบุญกุศล เราก็ต้องบำเพ็ญบุญกุศลไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยที่สุดเราก็จะได้สุคติโลกสวรรค์เป็นเบื้องหน้า แต่ถ้าเราเชื่อเรื่องพระนิพพานและสามารถปฏิบัติให้ถึงเราก็จะพบพระนิพพานได้
องค์พระศาสดาตรัสต่อว่า ผู้ที่มีจิตน้อมไปเพื่อความไม่มีภพ คือพระนิพพาน จิตของเขาจะน้อมไปสู่ความไม่มีราคะ ความ
สิ้นตัณหา ละความยึดถือด้วยมานะทิฐิ น้อมไปเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น คือละอุปาทาน แต่ถ้าตรงกันข้ามเขาไม่เชื่อเรื่องนิพพาน จิตจะน้อมไปในความยึดติด ด้วยกำลังของราคะ ตัณหา มานะ ทิฐิ มีความยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปาทาน จิตไม่น้อมไปเพื่อความสิ้นราคะ ผู้ที่มีจิตน้อมไปเพื่อความสิ้นราคะ เขาจะรู้สึกว่า สุขที่อยู่เหนือสุขด้วยราคะนั้นมีอยู่ ที่เราพูดว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง แปลว่า สุขอื่นเสมอด้วยนิพพานไม่มี คือความสุขที่ไม่มีตัวตัณหา จิตของบุคคลนั้นจะน้อมไปเพื่อความบากบั่นขวนขวาย เพื่อความสิ้นไปซึ่งตัณหาราคะ
ถ้าเรามีความเห็นว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มีเหตุให้เกิด เราก็จะมีจิตน้อมไปในการทำความดี เช่นถ้ามีความเห็นว่าโลกหน้ามี ก็
จะทำดีเพื่อโลกหน้า เพื่อความเจริญแห่งชีวิตในภพหน้าชาตินี้เป็นผลของชาติที่แล้ว ชาติที่แล้วทำดีทำชั่วอย่างไรมันก็ให้ผลเป็นทุกข์เป็นสุข เป็นความเจริญ ความเสื่อมในชาตินี้ปัจจุบันผลที่เราได้เสวยอยู่นี้ เป็นผลมาจากอดีตเหตุ และปัจจุบัน
เหตุที่เราทำในชาติปัจจุบันก็จะเป็นอนาคตผลในชาติหน้าเพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้เลยว่า อนาคตของเราจะเป็นอย่างไร ก็ดูที่ปัจจุบันเหตุ ดูว่าวันหนึ่ง อาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เราได้ทำดีมากน้อยอย่างไร ก็จะเป็นตัวกำหนดไปสู่อนาคตผลเราทำกรรมดีในปัจจุบัน ผลในอนาคตก็ดี ส่วนปัจจุบันผลที่เรารับอยู่ในชาตินี้ เป็นอดีตเหตุในชาติก่อนๆ เราไม่สามารถไปแก้ได้ แต่เราสามารถสร้างปัจจุบันเหตุในชาตินี้ให้สมบูรณ์ เพื่ออนาคตในวันข้างหน้า
คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอปันนกะสูตร นี้พระองค์ไม่ได้สอนเฉพาะเรื่องความสิ้นกิเลสเท่านั้น แต่พระองค์
ทรงสอนธรรมะขั้นศีลธรรม คือการดำเนินชีวิตชอบ ว่าเราเองต้องวางแผนชีวิตเพื่ออนาคตที่ดี หรือเพื่อโลกหน้าที่ดี โลกนี้เราได้อย่างนี้ เพราะว่าบุญที่เราทำมาให้ผลระดับนี้ แต่ถ้าเราอยากให้ชีวิตของเราดีกว่านี้ สมบูรณ์กว่านี้ เราก็ต้องทำในสิ่งที่เป็นคุณเป็นกุศลให้มาก ผลจึงจะเกิดตามอานิสงส์ตามปัจจัย
อานิสงส์สูงสุดที่เราจะพึงมีได้ ก็คือเราจะสร้างเหตุอย่างไรให้สิ้นอาสวะกิเลส การที่เราจะสิ้นอาสวะ เข้าถึงความสิ้นทุกข์คือ
พระนิพพาน ไม่ใช่ว่าเราจะเพียงแค่การอธิษฐาน ว่าขอให้เราถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส แต่เราต้องลงมือปฏิบัติด้วย
องค์พระศาสดาทรงชี้ทางให้เราเดินเพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน ทรงสอนให้เราเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติอยู่กับปัจจุบันขณะ อันเป็นความเพียรที่เราต้องทำในวันนี้ ใครเล่าจะรู้ความตายแม้ในวันพรุ่งนี้ ตามพระบาลีในภัทเทกรัตตคาถาว่า อัชเชวะ กิจจะมาตัปปัง โกชัญญา มะระณัง สุเว และพระองค์ยังได้ตรัสอีกว่า
" ท่านทั้งหลาย พึงพยายามทำความเพียรเถิด เพราะว่าความเพียรนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ " ดังที่บาลีท่านแสดงไว้ว่า วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ แปลว่า คนจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียรความเพียรหรือตบะเผากิเลสเป็นสิ่งที่เราต้องทำเอง ความเพียรนี้เป็นสัมมาวายามะ คือเพียรชอบ เพียรเจริญสติอยู่กับปัจจุบันขณะ หรือเป็นไปในสติปัฏฐาน 4 ก็เป็นสัมมาสติ คือระลึกชอบจิตที่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันขณะ ของกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสัมมาสมาธิ ความเห็นว่าทางนี้เท่านั้น เป็นทางที่จะออกจากทุกข์ได้เป็นสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ความคิดที่เป็นไปเพื่อการออกจากตัณหา เป็นสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ การที่เราพูดว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นสัมมาวาจา การกล่าววาจาชอบ
ธรรมะที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น เพื่อให้เราประพฤติปฏิบัติตาม แต่เราจะเข้าถึงความสิ้นทุกข์ได้ ก็อยู่ที่
ความเพียรของเรา เราจะพ้นจากมารและบ่วงแห่งมารได้ ก็อยู่ที่ความเพียรในการเจริญสติสัมปชัญญะ
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า อารมณ์อันวิจิตร คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่างๆ ที่เป็นไปอย่างวิจิตร
พิสดารนั้น ไม่ใช่มารแต่ตัณหาราคะ ที่เข้าไปยึดติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ นั้นต่างหาก เป็นมาร รูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่ารักน่าพอใจนั้นเป็นบ่วงมาร บาลีว่า มารพันธนา คือเป็นอารมณ์ที่ล่อให้เราเข้าไปยึดติดเหมือนกันกับดอกไม้ที่มีสีสวย กลิ่นหอม เป็นตัวล่อแมลงและผึ้งเช่นเดียวกับอารมณ์ที่ดีงามเหล่านั้น ก็เป็นเหยื่อล่อให้เกิดตัณหาราคะ ถ้าเราไม่ระวังให้เราเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสธรรมารมณ์ทั้งหลายที่วิจิตรพิสดารนั้นไม่ใช่มาร ไม่ใช่กิเลส ตัวกิเลสคือตัวตัณหาราคะที่เกิดขึ้นในใจเรา อารมณ์ดักจิตของมนุษย์ของสัตว์โลก ให้ผูกพันอยู่กับโลก ตัวมาร ตัวกิเลสจริงๆ เป็น ราคะ โทสะ โมหะ ที่เกิดในใจที่เป็นอกุศล อะปันนะกะ ปฏิปทา ซึ่งแปลว่า ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด เป็นไป
เพื่อความเจริญนั้น
ในเบื้องต้นก็คือการที่เราน้อมจิตเชื่อว่า บุญบาปมีจริง นรกสวรรค์มีจริง คุณบิดามารดามีจริง เชื่อเรื่องความกตัญญูกตเวทีเชื่อเรื่องความประพฤติดี ปฏิบัติดี เชื่อเรื่องการประพฤติชอบประกอบด้วยคุณธรรมและเชื่อว่ามนุษย์นั้นสามารถประพฤติตนจนถึงความสิ้นอาสวะ ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้
"เราเป็นนักบวช เป็นภิกษุ ภิกษุณี สามเณร แม่ชี โยคีนั้น เราอยู่ในภาวะที่ถือพรหมจรรย์คือการออกจากกาม อย่างน้อยที่สุด ก็ออกจากกามด้วยกาย แม้ว่าจิตยังมีกระแสกามอยู่ แต่จิตก็น้อมออกจากกาม เห็นโทษของตัณหาราคะ"
เช่น การที่เราแยกกันอยู่คนละโซนระหว่าง ภิกษุ อุบาสก กับแม่ชี อุบาสิกาทั้งหลายเราพยายามเดินตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า ถ้าไม่เห็นได้เป็นการดี หญิงก็ไม่เห็นชาย ชายก็ไม่เห็นหญิง ถ้าจำเป็นต้องเห็นก็อย่าพูด ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็ต้องพูดอย่างมีสติ หมายถึงว่า ถ้าเราอยู่ด้วยกันฉันพี่น้อง ฉันนักประพฤติปฏิบัติก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่ต้องเอาเรื่องกิเลส เรื่องกามมาเกี่ยวข้อง อย่างนี้เป็นการดำเนินชีวิตให้เป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม คือถือพรหมจรรย์ประพฤติเนกขัมมะเมื่อเราเห็นโทษของกามแล้ว ก็พยายามพัฒนาจิตตนให้เท่าทันอารมณ์จสามารถระงับดับตัณหาที่เกิดจากตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ได้ ถ้าเราสามารถประคองจิตได้ ก็สามารถดับความโลภโกรธ หลง ในใจได้ อารมณ์เหล่านั้นก็สักแต่ว่าเป็นอารมณ์ เหมือนกับพระอรหันต์เสพอารมณ์ที่สวยงามหรือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ดี แต่ท่านก็ไม่มีกิเลสที่จะติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น แต่ถ้ารักษาจิตให้ดีก็สามารถระงับดับกิเลสได้ในช่วงเวลาที่มีสติสัมปชัญญะนั้น
ถ้าเราได้เจริญสติเจริญวิปัสสนาให้ต่อเนื่องแนบแน่นได้พัฒนาสัมมาทิฐิก็จะเกิดญาณรู้ว่า รูปนามขันธ์ 5 หรือกายใจนี้
เป็นทุกข์ บาลีว่า ทุกเข ญาณัง เห็นว่า รูปนามกายใจนี้มีความเสมอกัน ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่พระ ไม่ใช่โยม เป็นเพียงรูปนามที่กำลังเป็นไปอยู่ ต่อไปก็จะเกิดญาณรู้ว่า ตัวตัณหา คือเหตุแห่งทุกข์เหตุให้เกิดรูปนาม เมื่อจะดับทุกข์ ดับรูปนามกายใจนี้ ก็ต้องดับที่ตัณหา คือความอยากเกิด อยากเป็นนั่นเป็นนี่การดับทุกข์ดับรูปดับนามนี้ ไม่ใช่เราเป็นผู้ดับ
บางคนมาปฏิบัติธรรมอยากจะดับทุกข์ อยากดับความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ถ้ายิ่งอยากดับก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น เพราะเอาตัวตนเข้าไปดับแต่ความจริงตัวที่จะดับทุกข์ได้ คือ ปัญญาที่รู้แจ้งตามความจริง จึงจะดับความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ เมื่อดับกิเลส 3 ตัวนี้ได้ ก็ดับทุกข์ได้ ปัญญาที่จะดับทุกข์ได้คือ ปัญญาที่ประกอบด้วยสติสัมปะปัญญะ มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ปัจจุบัน ทุกขณะแห่งการยืนเดิน นั่ง นอน ก้าวย่าง ถ้าโยคาวจรทั้งหลายได้ทำกิจอย่างนี้ก็เรียกว่า ได้ทำตัวเองให้เป็นที่พึ่ง หรือได้ปฏิบัติในทางที่ถูก เป็นทางที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้
เมื่อองค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านศาลา ในแคว้นโกศล จบลงแล้ว เขาเหล่านั้นก็ยอมรับคำสอนขององค์พระศาสดา ประกาศตนว่า ขอเป็นอุบาสก อุบาสิกา ผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่ง พวกเขากล่าวว่า คำสอนของพระองค์ช่างน่าอัศจรรย์ เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด หรือจุดประทีปในที่มืดเพื่อให้คนตาดีมองเห็น และทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงจำพวกเขาว่า เป็นอุบาสก อุบาสิกา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.
องค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงบังคับ ไม่ได้ทรงชักชวนว่าขอท่านจงมาเป็นสาวกของเรา แต่พระองค์ทรง
บอกว่า ถ้าท่านไม่มีศาสดาที่ท่านเคารพนับถือ เราจะแนะนำท่านให้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าท่านพอใจท่านก็จะได้อานิสงส์ คือ ความสุขความเจริญแก่ตัวเอง
ที่วัดเราก็เหมือนกัน เวลาที่อาตมาสอบอารมณ์โยคีชาวต่างชาติ อาตมาก็ไม่ได้ชวนเขาว่า คุณจงมาเป็นชาวพุทธเถิดหรือคุณจงมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อเขาเลื่อมใสศรัทธาเขาก็จะมาเป็นชาวพุทธเอง ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้น เขาก็ได้ประโยชน์ มีโยคีชาวต่างชาติหลายคนกลับมาปฏิบัติรอบสองรอบสาม เขาบอกว่า เขายังปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวัน เพราะเขาได้ประโยชน์จาการเจริญสติ ภาวนาแล้วมีจิตสงบ สุขุม มีความอดทนอดกลั้น ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยดี ตอนหลังก็เริ่มบูชาพระพุทธรูปไปกราบไหว้ที่บ้าน เพราะเห็นประโยชน์จากการปฏิบัติธรรม ก็ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
นี่คือการที่เราเอาความจริงหรือสัจธรรม ให้เขาได้ศึกษาตัวเขาเอง เช่นสอนว่า ธรรมะก็คือรูปนามขันธ์ 5 ที่เราสมมุติว่าเป็น
กายใจของเรา เป็นตัวเรา การปฏิบัติธรรม ก็คือการปฏิบัติให้มีสติอยู่กับกายอยู่กับใจ การปฏิบัติธรรมก็คือ การเดินมรรค เดินมรรคได้สมบูรณ์ก็ดับกิเลสได้ เมื่อดับกิเลสได้ก็มีความสุขเป็นความสุขที่ได้จากการอยู่กับปัจจุบัน รู้ความจริงในปัจจุบัน ดับโลภ โกรธ หลงในปัจจุบันลงได้การรู้ธรรมอย่างนี้ เรียกว่าเป็นประจักษ์สิทธิ หรือ ปัจจัตตัง คือรู้ได้เฉพาะตน โดยไม่ต้องให้ใครบอก เหมือนเราจิบน้ำตาลหรือเกลือ เราก็จะรู้รสหวาน รสเค็มด้วยตนเอง เมื่อเราลงมือปฏิบัติธรรม เราก็จะรู้สุข รู้ทุกข์ด้วยตัวเองทันที นี่คือตัวสัจธรรม เป็นหลักธรรมที่เราสามารถเข้าถึงเองได้ และเมื่อปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดปัญญาที่จะพิจารณาว่า สิ่งนี้ควรเชื่อ สิ่งนี้ไม่ควรเชื่อ สิ่งนี้ควรนับถือ สิ่งนี้ไม่ควรนับถือสิ่งที่เราพึงประพฤติปฏิบัติที่ไม่ผิด ก็คือ ความเชื่อเรื่องบุญบาปว่ามีจริง เป็นพื้นฐาน ถ้าเรามีความเชื่ออย่างนี้ เรียกว่าเราอยู่ในฝ่ายของพระอริยะ เป็นทางที่จะไปถึงความสิ้นทุกข์เป็นที่สุด แต่ถ้าเราปฏิเสธ ก็เป็นฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระอริยะ ที่จะเป็นไปเพื่อมีทุกข์ สังสาระก็ยืนยาว
ธรรมะที่องค์พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องบำเพ็ญเอง ปฏิบัติเอง มีความเพียรบากบั่นเอง พระองค์และพระ
อริยะสงฆ์สาวก เป็นเพียงผู้ชี้บอกทาง การที่เราจะพ้นจากมารและบ่วงแห่งมารได้ ก็ต้องอาศัยความเพียรบากบั่นด้วยตนเอง เราต้องช่วยตัวเองจึงจะสามารถพ้นจากสังสาระเป็นที่สุดได้ และถึงแม้ว่าจะยังไม่พ้นจากสังสาระ เราก็มีสุคติภูมิ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเป็นภพภายหน้า เราจึงต้องบากบั่นทำความดีด้วยตนเองตั้งแต่ระดับการให้ทาน รักษาศีล เจริญสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเป็นที่สุด
การแสดงธรรมะในค่ำคืนนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอสมมุติยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ ขออำนาจแห่งบุญอันเกิดจาก
การฟังธรรมด้วยความเคารพนี้ จงเป็นอานิสงส์ส่งผลให้พวกเราทั้งหลาย เจริญในคุณธรรมในระดับเบื้องต้น จนถึงความสิ้นอาสวะกิเลสเป็นที่สุด จงบังเกิดมีแก่เราท่านทั้งหลาย จงทุกทั่วหน้ากันด้วยเทอญ....
พระภาวนาธรรมาภิรัช วิ.
หนังสือ สรรพธรรม 5 บทที่ 1
Comments